งานศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของงานบริการด้านวิศวกรรมการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการสํารวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน (ด้านตะวันออก) มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันบนพื้นที่ศึกษา และคัดเลือกข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมในปีอนาคต ซึ่งจะแสดงถึงศักยภาพเชิงพื้นที่ที่จะส่งผลถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น โดยจะนำผลการคาดการณ์ดังกล่าวไปใช้ประกอบการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและการจราจร
โดยโครงการสํารวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน (ด้านตะวันออก) มีแนวคิดในการก่อสร้างให้เป็นทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงคาน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้เดินทางระยะไกลที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเขตตัวเมืองเชียงคานและใช้เป็นทางเลี่ยงเมือง รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ทั้งนี้ การศึกษาและออกแบบโครงการ จะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ในการเดินทางและขนส่งสินค้า และลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองเชียงคาน และด้วยสภาพพื้นที่ของอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่มีจุดเชื่อมต่อพรมแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 2 แห่ง ซึ่งเป็นลักษณะของท่าเรือ ได้แก่ ด่านพรมแดนเชียงคาน และด่านพรมแดนบ้านคกไผ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดเลยยังมีด่านพรมแดนที่สำคัญอีก 1 แห่ง ได้แก่ ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง (สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ไทย-ลาว) ดังแสดงในรูปที่ 1
ดังนั้น ในการศึกษานี้จึงจะพิจารณาให้ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาอันประกอบด้วยพื้นที่โครงการ ได้แก่ จังหวัดเลย ของประเทศไทย และพื้นที่อิทธิพลของโครงการ ได้แก่ แขวงไซยะบูลี และแขวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน โดยเน้นการฉายภาพสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และระดับจังหวัดพื้นที่ศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1) การศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม
2) การศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งมีรายละเอียดของงานศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังต่อไปนี้
รูปที่ 1 พื้นที่โครงการและจุดเชื่อมต่อไทย-สปป.ลาว