การสำรวจแนวเส้นทางของโครงการ ประกอบด้วย การสำรวจแนวเส้นทาง และระดับ โดยการจัดเตรียมแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ โดยใช้ข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับ พร้อมทั้งสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ สำรวจแนวเส้นทาง สำรวจระดับ สาธารณูปโภคต่างๆ และการเวนคืนที่ดิน
งานรวบรวมมาตรฐานการออกแบบ
ดำเนินการรวบรวมมาตรฐานการออกแบบด้านงานทาง การออกแบบงานโครงสร้าง การออกแบบป้ายจราจรและเครื่องหมายบนพื้นทาง การออกแบบระบบระบายน้ำและงานออกแบบระบบไฟฟ้า ของกรมทางหลวง หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้
1) มาตรฐานการออกแบบด้านเรขาคณิต
2) มาตรฐานการออกแบบด้านโครงสร้าง
3) มาตรฐานการออกแบบงานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร
4) มาตรฐานการออกแบบงานระบายน้ำ
5) มาตรฐานการออกแบบเครื่องหมายจราจร
งานสำรวจแนวทางและระดับ
ทบทวนข้อมูลงานสำรวจเดิมของกรมทางหลวง หากข้อมูลไม่เพียงพอต่อการออกแบบ ที่ปรึกษาจะสำรวจเพิ่มเติมโดยที่ข้อมูลการสำรวจที่เพิ่มเติมจะสอดคล้องและเป็นไปตามรายการข้อกำหนดงานสำรวจแนวทางและระดับของกรมทางหลวง
สำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ สำรวจแนวทาง สำรวจระดับ ทำรูปตัดตามยาวรูปตัดตามขวาง และเส้นชั้นความสูง สำรวจรายละเอียดสองข้างทาง สำรวจทางแยก และย่านชุมชน สำรวจรายละเอียดสิ่งก่อสร้าง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ร่องน้ำ ระดับน้ำ ข้อมูลทางอุทกวิทยา ข้อมูลการสัญจรทางน้ำในลำน้ำ รวมถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการดำเนินงานด้านจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และรายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการออกแบบ โดยจะดำเนินการสำรวจตามมาตรฐานสากลที่ทันสมัย และมาตรฐานกรมทางหลวง แล้วจัดทำแบบสำรวจในรูป Drawing Files, Digital Files และ CAD Files ซึ่งมี Data Structure ที่เป็นระบบ และเป็นรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1) การจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ
2) งานสำรวจหมุดหลักฐาน และ
3) งานสำรวจแนวทางและภูมิประเทศ
งานสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ
งานสำรวจจะดำเนินการสำรวจตรวจสอบคุณสมบัติชั้นดินเดิม ชั้นดินฐานราก วัสดุโครงสร้างชั้นทางถนนเดิมและแหล่งวัสดุ พร้อมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุที่จำเป็นสำหรับการออกแบบรายละเอียดของทางหลวงและโครงสร้างต่างๆ เพื่อเสนอแนะวิธีการออกแบบและก่อสร้างที่เหมาะสม ประกอบด้วย
1) งานสำรวจและทดสอบวัสดุคันทางสำหรับถนนใหม่/คันทางใหม่
2) งานสำรวจทดสอบวัสดุและความแข็งแรงของโครงสร้างชั้นทางเดิม
3) งานเจาะสำรวจดิน/หินฐานรากและการทดสอบ
4) งานสำรวจแหล่งวัสดุก่อสร้างและการทดสอบ
งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
ดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานทางในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การออกแบบแนวทาง แนวระดับ รูปตัด ทางแยก ทางขนาน ทางข้าม ทางลอด เครื่องหมายและป้ายจราจร รวมถึงงานระบบอำนวยความปลอดภัย การจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และงานอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยการออกแบบจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวง และมาตรฐานสากลที่ทันสมัย
งานออกแบบรายละเอียดทางแยกด้านโครงสร้าง
การออกแบบรายละเอียดทางแยก ด้านโครงสร้าง จะมีการกำหนดรูปแบบทางเลือกโครงสร้างสะพาน เพื่อให้ได้โครงสร้างสะพานทางยกระดับที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สภาพพื้นที่ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มีราคาค่าก่อสร้างที่เหมาะสม รวมทั้งมีความมั่นคงแข็งแรง สอดคล้องกัน ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและการใช้งาน
งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง วิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง
1) งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง
การออกแบบโครงสร้างชั้นทางจะออกแบบเพื่อรองรับน้ำหนักและปริมาณการจราจร โดยอายุ
การออกแบบโครงสร้างชั้นทางแบบยืดหยุ่น (Flexible Pavement) และแบบแข็ง (Rigid Pavement)
ต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยจะต้องทำการออกแบบแนวความคิดอย่างน้อย 3 รูปแบบเพื่อจัดทำ Life Cycle Cost Analysis เพื่อเลือกประเภทโครงสร้างชั้นทางที่เหมาะสมครอบคลุมในด้านค่าก่อสร้าง ค่าบูรณะ
ค่าบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ถนน ค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การวิเคราะห์และออกแบบเพื่อกำหนดรูปแบบทางเลือก ความหนา และคุณสมบัติของวัสดุ จะดำเนินการตามวิธีการ Empirical อ้างอิงมาตรฐานการออกแบบของ AASHTO 1993 ซึ่งการออกแบบจะกำหนดให้สอดคล้องกับคุณสมบัติชั้นดินเดิม สภาพถนนเดิมจากการสำรวจ และแหล่งวัสดุที่ใช้ในโครงการฯ
ในกรณีที่โครงสร้างทางยืดหยุ่นมีความเหมาะสมจะกำหนดชนิดของ Asphalt Cement ตามระบบ SUPERPAVE และในกรณีที่โครงสร้างทางแบบแข็งมีความเหมาะสม จะเลือกชนิดของผิวทางแบบแข็งและวัสดุชั้นรองผิวทางคอนกรีตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปริมาณการจราจร
2) การวิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง
การวิเคราะห์เสถียรภาพความมั่นคงและการทรุดตัวของคันทาง โดยจะออกแบบให้มีความแข็งแรงปลอดภัยตามมาตรฐานการออกแบบของกรมทางหลวง หรือมาตรฐานสากลอื่น ๆ และมีการซ่อมบำรุงระหว่างการเปิดใช้งานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำ ระบบป้องกันตลิ่ง และโครงสร้างอื่น ๆ
การออกแบบโครงสร้างสะพานทางยกระดับโครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำ ระบบป้องกันตลิ่ง และโครงสร้างอื่น ๆ ที่ปรึกษาจะใช้มาตรฐาน AASHTO LRFD SPECIFICATION ฉบับล่าสุด มาตรฐานและข้อกำหนดของกรมทางหลวง และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะใช้น้ำหนักจรของ HL-93 และน้ำหนักตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวง รวมทั้งพิจารณา แรงกระทำที่มีผลตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ แรงที่เกิดจากแผ่นดินไหว แรงลม และแรงที่เกิดจากกระแสน้ำ ที่ปรึกษาจะพิจารณาออกแบบให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่โครงการ และเป็นไปตามข้อกำหนด กฎหมาย หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องฉบับล่าสุด ยกเว้นในกรณีที่มีขยายโครงสร้างเดิมโดยเชื่อมต่อโครงสร้าง (ไม่มีรอยต่อ) ซึ่งจะดำเนินการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานและขนาดน้ำหนักตามโครงสร้างเดิม
งานระบบระบายน้ำ
งานศึกษาด้านระบายน้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วนงาน ดังนี้
1) งานศึกษา วิเคราะห์ด้านอุตุ-อุทกวิทยา เป็นการรวบรวมข้อมูลทั่วไปด้านอุทกวิทยาของพื้นที่รับน้ำ ได้แก่ สภาพลุ่มน้ำ ลำน้ำ น้ำฝน น้ำท่า น้ำใต้ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน อาคารระบายน้ำ อุทกภัยในอดีต ฯลฯ เพื่อนำมาพิจารณาคำนวณค่าอัตราการไหลน้ำท่าสูงสุดของพื้นที่รับน้ำโครงการและเส้นทางระบายน้ำออกจากโครงการไหลไปลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
2) งานออกแบบระบบระบายน้ำ เป็นการคำนวณด้านชลศาสตร์การไหล เพื่อออกแบบขนาดช่องเปิดโครงสร้างระบายน้ำให้เพียงพอรองรับค่าอัตราการไหลสูงสุดตามรอบปีของฝนออกแบบของพื้นที่รับน้ำ
งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร
ทำการออกแบบรายละเอียดและข้อกำหนดของระบบวงจรไฟฟ้าและวิธีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทางของโครงการ เป็นไปตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมการทาง โดยคำนึงถึงวิธีการก่อสร้าง การป้องกันการโจรกรรมและอื่น ๆ ที่เห็นว่าสมควร โดยการออกแบบยึดถือตามมาตรฐานกรมทางหลวงและมาตรฐานสากล
งานสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์
งานออกแบบงานภูมิสถาปัตย์งานทางโดยภาพรวมจะเป็นการออกแบบภูมิทัศน์ตามสายทาง โดยมีขอบเขตที่ถูกกำหนดชัดเจนตามแนวเขตทาง ทางเท้าจะถูกออกแบบในบริเวณที่ถนนตัดผ่านชุมชนโดยการกำหนดขนาดทางเท้าจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานกรมทางหลวง ซึงการออกแบบภูมิทัศน์ทางกายภาพจะออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนสัญจร และ ผู้ใช้ทางเท้า และอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ
โดยปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงในขั้นตอนแรก คือ การวิเคราะห์และออกแบบการจัดการเรื่องดินและน้ำให้เสร็จสิ้น โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วนำปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น การตลาด การเงินและด้านเทคนิคพิเศษที่จะช่วยให้การทำงานวางแผนได้สะดวกมาประยุกต์ให้ ประกอบต่อไป ซึ่งวิธีการจัดการงานดินเบื้องต้นก็คือ ต้องออกแบบปรับแต่ระดับดิน (Grading) ให้กระทบต่อสภาพภูมิทัศน์ให้น้อยที่สุด และประหยัดงบประมาณงานดิน (Earth Work) โดยรักษาสมดุลของดินตัดและดินถม (Cut & Fill) เพื่อให้เหมาะสมแก่การใช้งาน ดูแลรักษาง่าย และป้องกันการกัดเซาะ พังทลาย (Erosion Control) โดยออกแบบทางไหลของน้ำให้ไหลออกจากบริเวณใช้งาน (Drainage Design) และรักษาทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ (Existing Drainage Way) โดยการออกแบบรูปลักษณ์ของพื้นดิน (Landform) ด้วยความเข้าใจ และใช้ข้อมูลสำรวจของภูมิประเทศเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และตรวจสอบได้ ก่อนการออกแบบ เพื่อความถูกต้องเกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าและไม่เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการถูกรบกวน (Sensitive to Impacts) และพื้นที่มีปัญหาอื่น ๆ
งานดำเนินงานทางด้านสิ่งสาธารณูปโภค
ดำเนินการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เป็นต้น ในทันทีที่ได้รับแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานได้ โดยจะให้วิศวกรสาธารณูปโภค หรือวิศวกรไฟฟ้า/เครื่องกลเป็นบุคคลากรหลักทำหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับวิศวกรสำรวจ และวิศวกรงานทางในการประสานงานกับหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อให้ได้ข้อมูลระบบสาธารณูปโภคปัจจุบันและแผนการก่อสร้างในอนาคต พร้อมทั้งทำการสำรวจตรวจสอบข้อมูลระบบสาธารณูปโภคปัจจุบันเทียบกับสภาพจริงในสนาม
จากนั้นจะประสานงานกับกรมทางหลวงในการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค
ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในเขตทาง การรื้อย้ายสาธารณูปโภคและประมาณการค่ารื้อย้ายเบื้องต้น พร้อมหลักการในการร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายในกรณีที่หน่วยงานสาธารณูปโภคประสงค์จะก่อสร้างร่วมไปกับงานก่อสร้างของโครงการ และประมาณการค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการขอรับบริการสาธารณูปโภคที่จำเป็น ต้องใช้ในโครงการ
ข้อมูลที่รวบรวมได้จากการประสานงานกับหน่วยงานสาธารณูปโภครวมถึงข้อมูลที่ได้จากงานสำรวจ ที่ปรึกษาจะนำมาใช้ประกอบการจัดทำแบบระบบสาธารณูปโภคของโครงการ ประกอบด้วยแบบแปลน พร้อมรูปตัดที่เกี่ยวข้อง แสดงอยู่ในเล่มแบบรายละเอียด มีเนื้อหาสรุปดังนี้
- เขตทางของทางหลวงและถนนปัจจุบันในพื้นที่โครงการ
- ตำแหน่งการก่อสร้างติดตั้งระบบสาธารณูปโภคปัจจุบันในพื้นที่โครงการ
- ตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคปัจจุบันที่จำเป็นต้องรื้อย้าย พร้อมการจัดวางระบบสาธารณูปโภคที่จะก่อสร้างติดตั้งทดแทน
- ตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปโภคในอนาคตที่จะก่อสร้างร่วมไปกับงานก่อสร้างของโครงการ (ถ้ามี)
งานคำนวณปริมาณงานก่อสร้างและประมาณราคา
การประมาณราคา เป็นการคำนวณหามูลค่าการลงทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยอาศัยหลักวิชาวิศวกรรม ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรึกษาจะใช้จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ประจำจังหวัดเลย และกรุงเทพมหานคร ราคาวัสดุจากแหล่ง และราคาวัสดุ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากใบเสนอราคา ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำมาคำนวณหาต้นทุนในการดำเนินโครงการให้ได้ราคาต้นทุนที่มีความใกล้เคียงและถูกต้องแม่นยำ
งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ดำเนินการสำรวจประเมินทรัพย์สิน เพื่อประกอบการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) ขั้นเบื้องต้น